ความสำคัญของน้ำนมแม่กับลูกโคเนื้อ (ตอนที่ 2)

ความเดิมจากฉบับที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึง ความสำคัญของนมน้ำเหลืองและปัญหาของโคเนื้อที่นมแม่ไม่พอหรือไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ซึ่งจำเป็นต้องใช้นมผงมาชงให้ลูกวัวกิน

ความสำคัญของน้ำนมแม่กับลูกโคเนื้อ (ตอนที่ 2)

โดย พจนารถ อุทปา

 ความเดิมจากฉบับที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึง ความสำคัญของนมน้ำเหลืองและปัญหาของโคเนื้อที่นมแม่ไม่พอหรือไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ซึ่งจำเป็นต้องใช้นมผงมาชงให้ลูกวัวกิน และได้บอกวิธีเลือกใช้นมผมซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากนมผงที่ขายในท้องตลาดมีหลากหลายคุณภาพ หากลูกวัวได้นมผงคุณภาพไม่ดี มีส่วนประกอบที่ไม่เหมาะสมอันตรายถึงท้องเสียตายได้ และได้ทิ้งท้ายไว้จากตอนที่แล้วว่า แล้วขั้นตอนในการป้อนนมลูกวัวมีวิธีการที่ถูกต้องอย่างไรจึงจะไม่เป็นอันตรายและลูกวัวมีโอกาสรอดสูงที่สุด ซึ่งก่อนจะถึงตรงนั้นเราต้องทำความเข้าใจระบบการย่อยและทางเดินอาหารตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของกระเพาะภายในของลูกวัวกันก่อน

พัฒนาการของกระเพาะลูกวัว

 วัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant) มีกระเพาะ 4 กระเพาะ ซึ่งมีหน้าที่ในการทำงานแตกต่างกัน กระเพาะส่วนแรกคือรูเมน (Rumen) จะเริ่มปรากฎเมื่อลูกวัวเป็นตัวอ่อนในท้องแม่โคตั้งแต่ตัวอ่อนอายุ 28 วัน และกระเพาะจะพัฒนาแยกส่วนเป็น 4 ส่วน เมื่อตัวอ่อนอายุ 56 วันในท้องแม่
 และเมื่อลูกวัวคลอดออกมากระเพาะส่วนหน้า (Rumen) และรังผึ้ง (Reticulum) จะมีขนาดเล็กมากประมาณ 30% ของกระเพาะทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 70% จะเป็นกระเพาะสามสิบกลีบ (Omasum) และกระเพาะแท้ (Abomasum) กระเพาะแท้จะผลิตไอนไซม์เรนนิน (Rennin) ทำให้นมที่ลูกวัวกินเข้าไปตกตะกอนเป็นก้อนโปรตีน (Casein) และหางนม ซึ่งโปรตีนจะถูกย่อยต่อไปโดยเอนไซน์เปปซิน (Pepsin) ส่วนน้ำตาลในนมแลคโต๊ส (Lactose) ก็จะถูกเอนไซน์แลคเตส (Lactase) ย่อย และดูดซึมไปใช้ประโยชน์ต่อไป
 กระเพาะของลูกวัวจะค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าลูกวัวสามารถกินหญ้าหรืออาหารหยาบได้เร็วขึ้น มากขึ้น ก็จะไปกระตุ้นการพัฒนาของกระเพาะส่วนหน้าคือ ผ้าขี้ริ้ว, รังผึ้ง และสามสิบกลีบได้เร็วขึ้น และเมื่อวัวโตเต็มวัยสัดส่วนของกระเพาะก็จะเปลี่ยนแปลงไป
  • กระเพาะผ้าขี้ริ้ว (Rumen) มีขนาด 80%
  • กระเพาะรังผึ้ง (Reticulum) มีขนาด 5%
  • กระเพาะสามสิบกลีบ (Omasum) มีขนาด 8%
  • กระเพาะแท้ (Abomasum) มีขนาด 7%
ลูกวัวที่กินหญ้าได้เร็วตั้งแต่ 10 วัน หลังคลอด กระเพาะรูเมนจะพัฒนาเร็วขึ้น

นมที่ลูกวัวกินควรไปอยู่ในกระเพาะส่วนไหน?

 นมที่ลูกวัวกินหรือได้รับจากการป้อนนมต้องตกลงสู่กระเพาะแท้ Abomasum เท่านั้น ลูกวัวจึงจะย่อยและนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่ท้องเสีย ในธรรมชาติของระบบทางเดินอาหารลูกวัว จะมีท่อบายพาส (Esophagus Groove) ยาวประมาณ 7-8 นิ้ว คอยเปิดออกโดยประสาทอัตโนมัติให้นมไหลผ่านไปยังกระเพาะแท้ เมื่อลูกวัวโตเต็มวัยท่อนี้จะหมดความสำคัญไปและปิดทำให้อาหารไหลผ่านไปกระเพาะผ้าขี้ริ้วและรังผึ้ง

ปัจจัยที่มีผลทำให้นมไหลลงกระเพาะเท้

  • ลูกวัวต้องได้รับนมในท่าที่ถูกต้อง คือ ดูดอย่างเต็มใจเงยหน้าขึ้นหางกระดิก ถ้าบังคับให้ดูดน้ำนมจะไหลสู่กระเพาะผ้าขี้ริ้วมีโอกาสลูกวัวท้องอีดและท้องเสียตามมา
  • อุณหภูมิของนมที่ป้อนต้องเหมาะสมไม่เย็นเกินไปไม่ร้อนเกินไป หากนมอุณหภูมิไม่เหมาะสม 38Co ลูกวัวจะไม่ยอมกิน บายพาสในระบบไม่ทำงาน มีโอกาสท้องอืด ท้องเสีย
  • ถ้าลูกวัวกินน้ำ น้ำจะไหลตรงไปยังกระเพาะผ้าขี้ริ้วหรือ Rumen โดยตรง

แล้วให้ลูกวัวกินนมผงชงกับให้กินนมแม่อันไหนดีกว่ากัน

  ในทางปฏิบัติลูกวัวเนื้อหากไม่มีปัญหานมแม่ไม่พอหรือไม่ยอมให้ลูกดูดนมก็ควรให้กินนมแม่ตามปกติจนกว่าจะจับหย่านมเมื่ออายุ 6 เดือน แต่หากจะชงนมให้ลูกวัวกินโดยเฉพาะวัวเนื้อ มีคำถามว่าจะดีหรอ? ดีกว่านมแม่ไหม? ส่วนลูกวัวนมคงไม่ต้องพูดถึง ไม่มีสิทธิได้กินนมแม่เพราะต้องรีดนมไปขาย คำตอบจากหลายๆงานวิจัยในต่างประเทศ นักวิจัยชี้ชัดเจนว่าการให้ลูกวัวกินนมผงชงจะทำให้การพัฒนาของกระเพาะวัวดีกว่าการให้ลูกวัวกินนมแม่เหตุผลก็คือ นมผง ถ้าเป็นนมผงคุณภาพดี มีส่วนประกอบของสกิมมิลล์ (Skim Milk) มากๆ ลูกวัวก็จะได้รับโปรตีนเคซีนซึ่งจะย่อยได้ง่านลูกวัวนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีว่าการกินนมแม่ และยังพบว่าการที่ลูกวัวกินนมผงคุณภาพดีทำให้การตกตะกอนในกระเพาะน้อยมีผลทำให้แรงตึงผิวในกระเพาะแท้ต่ำ อัตราการย่อยและอัตราการไหลผ่านจะเร็วกว่าการให้กินนมแม่เป็นผลทำให้ลูกวัวต้องปรับตัวโดยการหากินอาหารหยาบให้เร็วขึ้น ซึ่งก็จะไปมีผลต่อการพัฒนาของกระเพาะผ้าขี้ริ้วให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่าลูกวัวที่กินนมแม่ เมื่อกระเพาะผ้าขี้ริ้วและรังผึ้งและสามสิบกรัมพัฒนาการเร็วระบบจุลินทรีย์ในกระเพาะเหล่านี้ก็จะทำงานได้เต็มระบบมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของวัวอย่างแน่นอน
  ทั้งหมดนี้พอจะเห็นความสำคัญกันบ้างนะครับ ว่าน้ำนมในวัวเนื้อนั้นก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวัวนมเลย ทั้งเรื่องนมน้ำเหลืองที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันโรค ทั้งคุณภาพนมผงที่จะต้องเลือกถ้าจำเป็นต้องชงให้กิน ตลอดจนถึงวิธีการป้อนนมที่ถูกต้องเพื่อให้ลูกวัวได้ประโยชน์และไม่เป็นอันตรายต่อลูกวัวที่ทุกๆ ท่านรักนะครับ สำหรับตอนนี้คงจบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามบทความดีๆ จากฝ่ายวิชาการ บจก.นิวทริเมดในฉบับต่อๆ ไปนะครับ ยินดีอย่างยิ่งสำหรับคำแนะนำเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาวงการปศุสัตว์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไปนะครับ

บริษัท นิวทริเมด จำกัด ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสำหรับสัตว์